ในปัจจุบันการทำธุรกรรมออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ผ่านมา ได้ผลักดันให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนให้ตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งการลงลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ก็เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่สำคัญในการพิสูจน์และยืนยันตัวตนของผู้ลงนามในเอกสารนั้น ๆ ที่ส่งผ่านทางออนไลน์

ซึ่งในโลกของดิจิทัล การตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงของข้อมูลอิเล็กทรอนิส์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก หากเราไม่แน่ใจว่าข้อมูลที่ส่งมานั้นมาจากใคร และมีความสมบูรณ์หรือไม่ ความไว้วางใจในการติดต่อสื่อสารก็จะไม่มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบบเปิด (Open Environment) ที่คู่ค้าอาจเป็นคนที่เราไม่เคยพบมาก่อน 

โดยลายมือชื่อดิจิทัลใช้เทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure – PKI) ตามใบรับรองดิจิทัลที่ออกโดยผู้ออกใบรับรอง (Certificate Authority – CA) ที่ผูกข้อมูลประจำตัว (เช่นบุคคลหรือ บริษัท ) กับคู่คีย์การเข้ารหัส เมื่อเอกสารลงนามแบบดิจิทัลด้วยคีย์ส่วนตัวของผู้ลงนามเนื้อหาที่แน่นอนของเอกสารและข้อมูลประจำตัวของผู้ลงนามจะถูกผูกเข้าด้วยกันเพื่อสร้างลายนิ้วมือดิจิทัลที่ไม่ซ้ำกันเพื่อให้แน่ใจว่า

      1. ข้อมูลประจำตัวของผู้ลงนามในเอกสารได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดย CA ที่เชื่อถือได้แบบสาธารณะ
      2. เนื้อหาของเอกสารไม่ได้ถูกแก้ไขตั้งแต่มีการเซ็นชื่อ
      3. ผู้ลงนามไม่น่าจะปฏิเสธได้ว่าพวกเขาได้ลงนามในเอกสาร

ลายมือชื่อดิจิทัล หรือลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แนบไปกับเอกสารที่ส่งไปเพื่อเป็นการแสดงตัวตนว่าผู้ส่งข้อความเป็นใคร การลงนามในเอกสารของระบบสารสนเทศ (Information System) ที่อยู่ในรูปแบบการเข้ารหัส โดยผู้รับปลายทางสามารถตรวจสอบและยืนยันลายเซ็นนี้ได้โดยที่ผู้ส่งไม่อาจปฏิเสธได้ และยังสามารถนำลายเซ็นนี้ไปเป็นหลักฐานในชั้นศาลได้ 

โดยลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) จะใช้เทคนิคที่เรียกว่า การเข้ารหัส (Cryptography) โดยใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (Digital Signature) ซึ่งผู้เขียนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์สามารถลงนามในข้อมูลดังกล่าวโดยใช้รหัส หรือกุญแจลับ (Secret Cryptography Key / Private Key) โดยรหัสดังกล่าวนี้ต้องรักษาไว้เป็นความลับอยู่เสมอ

ลายมือชื่อ(ซึ่งอยู่ในรูปของรหัส) สามารถที่จะตรวจสอบความถูกต้องโดยใช้รหัสหรือกุญแจสาธารณะ (Public Key) ซึ่งเป็นรหัสที่มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรหัสลับเท่านั้น ไม่สามารถใช้เป็นรหัสลับไปทำหน้าที่เป็นลายมือชื่อของเจ้าของรหัสได้ รหัสดังกล่าวจึงสามารถประกาศให้สาธารณชนโดยทั่วไปรับทราบได้

ผู้เขียน นายสุรภัฎ พงษ์สุวรรณ์ วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2564